top of page

ทริปสั้นวันหยุด อ่างทอง

พูดถึงทริปสั้นวันหยุดพักผ่อนเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ หาทริปสั้นๆเที่ยวกันเถอะ วันหยุดที่ผ่านมา ผมชวนแฟนชับรถไปเที่ยวใกล้ๆ อ่างทอง เช้าไป-เย็นกลับ ถึงกรุงเทพ ไม่เกิน 5 โมงเย็น


ทริปสั้น วันหยุด อ่างทอง

โปรแกรมที่วางไว้ มีดังนี้

จุดที่ 1 วัดขุนอินทประมูล ตําบล อินทประมูล อําเภอ โพธิ์ทอง อ่างทอง

จุดที่ 2 วัดสังกระต่าย ตำบล ศาลาแดง อำเภอเมืองอ่างทอง อ่างทอง

จุดที่ 3 วัดม่วง ตําบล หัวตะพาน อําเภอ วิเศษชัยชาญ อ่างทอง

และพักรับประทานอาหารที่ ร้านอาหารนิรมิต ตำบล ศาลเจ้าโรงทอง อำเภอ วิเศษชัยชาญ อ่างทอง

จุดที่ 4 ตลาดวิเศษชัยชาญ ตำบล ศาลเจ้าโรงทอง อำเภอ วิเศษชัยชาญ อ่างทอง

และจุดสุดท้ายสำหรับวันนี้

จุดที่ 5 ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ ตำบล บางเสด็จ อำเภอ ป่าโมก อ่างทอง


ผมเป็นคนกรุงเทพ เกิดและโตที่กรุงเทพ กลับมองข้ามจังหวัดเล็กๆ ที่ไม่เล็กแห่งนี้ไปได้ เมื่อก่อนจะไหว้พระ มักจะชวนภรรยาไปอยุธยา เพราะเห็นว่าใกล้และมีวัดให้สักการะมากมาย วันหนึ่งผมแอบเห็นเวปของการท่องเที่ยวจังหวัดอ่างทอง แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว อืม....ช่างน่าดึงดูดใจยิ่งนัก


จังหวัดอ่างทอง เป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับพระนครศรีอยุธยา ในอดีต เป็นเมืองบริวาร เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่ม มีลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขา ดินนั้นเป็นดินเหนียวปนทราย พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การปลูกข้าว ทำไร่ ทำนา และทำสวน และมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 2 สาย คือแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ประชาชนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเพาะปลูก และเนื่องจาก เป็นเมืองบริวาร อยู่ใกล้พระนครศรีอยุธยา จึงเป็นเมืองพุทธ มีวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย ในช่วงกลาง วัดหลายวัด ได้ถูกทิ้งร้าง ปราศจากการทำนุบำรุง จึงทำให้วัดบางวัดเสื่อมโทรมไป และเป็นที่รกร้าง


นัยที่สองเชื่อว่า อ่างทองน่าจะมาจากชื่อของหมู่บ้านเดิมที่เรียกว่า “บางคำทอง” ตามคำสันนิษฐานของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาล มณฑลอยุธยาเมื่อครั้งที่กราบทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสลำแม่น้ำน้อยและลำแม่น้ำใหญ่ใน พ.ศ. 2459 ว่า ชื่อของเมืองอ่างทองก็จะมาจากชื่อ บางคำทอง ซึ่งแต่งตั้งครั้งกรุงเก่า ว่าด้วยตามเสด็จพระราชดำเนินเมืองนครสวรรค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจากกรุงเก่า “ลุถึงบางน้ำชื่อ คำทอง น้ำป่วนเป็นฟอง คว่างคว้าง” และบางกระแสก็ว่า อาจเพี้ยนมาจากชื่อของแม่น้ำลำคลองในย่านนั้น ที่เคยมีชื่อว่า “ปากน้ำประคำทอง” ซึ่งเป็นทางแยกแม่น้ำหลังศาลากลางจังหวัด และส่วนในเข้าไปเรียกว่า “แม่น้ำสายทอง” ซึ่งปัจจุบันตื้นเขินใช้ไม่ได้แล้ว


นัยที่สามเชื่อว่า ชื่ออ่างทองน่าจะมาจากชื่อ บ้านอ่างทอง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์เรื่องสร้างเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า “เมืองอ่างทองดูเหมือนจะตั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวร เดิมชื่อเมืองว่า วิเศษไชยชาญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ที่ลงมาจากนครสวรรค์ อยู่มาแม่น้ำน้อยตื้นเขิน ฤดูแล้งใช้เรือไม่สะดวก ย้ายเมืองออกมาตั้งริมแม่น้ำพระยาที่บ้านอ่างทองจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองอ่างทอง” (ที่มา : วิกิ)


การวางแผนท่องเที่ยวอ่างทองนั้น ท่านคงจะต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับว่า ท่านเดินทางมมาจากทิศใด ส่วนผมนั้น เดินทางไปจาก อำเภอบางบัวทอง นนทบุรี จึงได้วางแผนการเดินทางและจุดท่องเที่ยวตามระยะทาง โดยเริ่มจาก ระยะทางที่ไกลที่สุด แล้วย้อนกลับ เพื่อให้เวลาเดินทางกลับบ้าน ซึ่งใกล้กับเวลาเร่งด่วน จะได้ไม่ประสบปัญญารถติดมากมาย


ผมออกเดินทางด้วยเวลาประมาณ 08:30น


จุดที่ 1 วัดขุนอินทประมูล ตําบล อินทประมูล อําเภอ โพธิ์ทอง อ่างทอง

แลนด์มาร์ค ของที่นี่ประกอบไปด้วย พระนอนองค์ใหญ่ และ วิหารโบราณพร้อมเจดีย์


วัดขุนอินทประมูล ประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่แห่งทุ่งโพธิ์ทอง อยู่ในเขตตำบลอินทประมูล วัดนี้เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย พิจารณาจากซากอิฐแนวเขตเดิมคะเนว่าเป็นวัดขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่และ ยาวที่สุดในประเทศไทยมีความยาวถึง 50 เมตร (25 วา) เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารแต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไปเหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝนอยู่กลางแจ้งมานานนับเป็นร้อยๆ ปี องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน องค์พระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็น น่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ได้เคยเสด็จมาสักการะบูชา อาทิเช่น พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จมาเมื่อ พ.ศ. 2296 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯในปี พ.ศ. 2421 และ 2451 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐินต้นในปี พ.ศ.2516 และเสด็จมานมัสการอีกครั้งในปีพ.ศ. 2518 พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศต่างนิยมมานมัสการเป็นเนืองนิจ นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดขุนอินทประมูลยังมีซากโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาว ซึ่งเหลือเพียงฐาน ผนังบางส่วนและองค์พระพุทธรูป และ ในศาลาเอนกประสงค์ มีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูลและโครงกระดูกมนุษย์ ขุดพบในเขตวิหารพระพุทธไสยาสน์เมื่อปี พ.ศ. 2541 ลักษณะนอนคว่ำหน้า มือและเท้ามัดไพล่อยู่ด้านหลัง เชื่อกันว่าเป็นโครงกระดูกขุนอินทประมูล แต่บ้างก็ว่าไม่ใช่ ซึ่งตามประวัติเล่ากันว่า ท่านเป็นนายอากรผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์ โดยยักยอกเอาเงินของหลวงมาสร้างเพื่อเป็นปูชนียสถาน ครั้นพระมหากษัตริย์ทรงทราบรับสั่งถามว่าเอาเงินที่ไหนมาสร้าง ขุนอินทประมูลไม่ยอมบอกความจริงเพราะ กลัวส่วนกุศลจะตกไปถึงองค์พระมหากษัตริย์จึงถูกเฆี่ยนจนตาย วัดนี้จึงได้ชื่อว่า "วัดขุนอินทประมูล”